แน่นอนเลบว่า หลายคนคงสับสนว่า ไกด์นำเที่ยว กับ ผู้นำเที่ยว (ทัวร์ลีดเดอร์) มันคืออะไรกันแน่ มันเหมือนหรือต่าง กันอย่างไร ซึ่งนักท่องเที่ยวก็มักจะเรียกรวมๆกันไปเพื่อให้เข้าใจง่าย คือ “ไกด์” นั่นเอง แต่จริงๆแล้วมันมีความแตกต่างกันพอสมควร และมีความเหมือนกันอยู่ทั้งสองนี้ด้วย มาอ่านบทความนี้กัน ที่ผู้เขียนนั้น เป็นทั้ง 2 อย่าง และมีบัตรประจำตัว ทั้ง 2 อย่าง ที่ได้รับอย่างถูกต้องตามกฏหมาย พรบ.การท่องเที่ยว ฉบับล่าสุด ปี พ.ศ. 2551 จากกรมการท่องเที่ยว – Department of Tourism บทความนี้ก็เลยมาอธิบายเคลียร์กันชัดๆ โดยเอาเรื่องบทบาทและหน้าที่ของไกด์ทั้งสองประเภทนี้มาให้ไขข้อข้องใจกัน
บทบาทผู้นำเที่ยว (Tour Leader)
ผู้นำเที่ยว (Tour Leader) คือ ผู้ที่มีบทบาทนำนักท่องเที่ยวจากประเทศตนเองเดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศ มีหน้าที่นำลูกค้าจากประเทศไทยไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ หน้าที่จะเริ่มต้นจากบริษัทฯมอบหมายงานให้ งานมักจะเริ่มต้นด้วยการติดต่อสื่อสารกับลูกทัวร์ก่อนออกเดินทาง เพื่อให้ความช่วยเหลือเรื่องการเตรียมตัว Check List ความพร้อมของลูกทัวร์ ก่อนที่จะพบปะกันครั้งแรก อาจจะที่สนามบิน หรืออาจจะมีการประชุมทัวร์กันก่อนเดินทาง Orientation หน้าที่หลักๆ คือ คอยอำนวยความสะดวก การแนะนำข้อมูล แก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจ
ลักษณะการทำงานคือ บริการลูกค้าออกจากประเทศไทยและกลับมายังประเทศไทยอย่างปลอดภัย รวมถึงประสานงานการนำเที่ยวกับมัคคุเทศก์ท้องถิ่น กรณีของประเทศนั้นๆ บังคับใช้งานของไกด์ท้องถิ่นเสมอ(โดยส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศเอเชีย หรือบางประเทศในยุโรป) โดยทัวร์ลีดเดอร์จำเป็นต้องรู้ภาษาถิ่นนั้นด้วย เพราะอาจจะต้องแปลภาษาให้ลูกค้าคนไทยฟังอีกทอดหนึ่ง ตั้งแต่เริ่มต้นการเดินทางจนเดินทางกลับมายังประเทศของตน
ทักษะสำคัญหลักๆก็คือ ต้องมีความรู้ภาษาในการสื่อสารกับผู้ร่วมงานในต่างประเทศ การแก้ปัญหา รอบรู้เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ ระบบศุลกากรระหว่างประเทศ และต้องรู้ข้อมูลของพื้นที่นั้นๆหรือว่าแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ เป็นอย่างดี มีความรับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์สุจริต และตรงต่อเวลา
บทบาทของไกด์นำเที่ยว (Tour Guide)
ไกด์นำเที่ยว (Tour Giude) หมายถึง มัคคุเทศก์ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศของตนเอง โดยมีหน้าที่ดูแลนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างถิ่นโดยแยกออกเป็น 2 ประเภทดังนี้
- มัคคุเทศก์อินบาวน์ (Inbound Guide) มัคคุเทศก์ที่พานักท่องเที่ยวต่างชาติ เที่ยวภายในประเทศไทย ที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ปี พ.ศ.2551 กำหนดทำหน้าที่นำเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ตามขอบเขตที่ใบอนุญาตการเป็นมัคคุเทศก์แต่ละประเภทระบุ มีหน้าที่นำเที่ยวนักท่องเที่ยวต่างชาติท่องเที่ยวภายในประเทศ ใช้ภาษาต่างประเทศในการนำเที่ยว ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศชาติในการบอกกล่าวในสิ่งดีงาม ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี หลายครั้งมัคคุเทศก์ Inbound อาจทำหน้าที่รวมไปถึงการรับเข้าและส่งออกนักท่องเที่ยว (Transfer-In, TransferOut) ด้วย
- มัคคุเทศก์โ์ดเมสติกส์ (Domestic Guide) มัคคุเทศก์ พาคนไทยเที่ยวภายในประเทศไทย ที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติธุรกิจน าเที่ยวและมัคคุเทศก์ ปี พ.ศ.2551 กำหนด มีบัตรมัคคุเทศก์ถูกต้อง ทำหน้าที่นำเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ตามขอบเขตที่ใบอนุญาตการเป็นมัคคุเทศก์แต่ละประเภทระบุ มัคคุเทศก์ Domestic จะนำเที่ยวนักท่องเที่ยวชาวไทยเที่ยวในประเทศ หรือเที่ยวตามตะเข็บชายแดนของประเทศ เช่น อำเภอแม่สาย ตลาดโรงเกลือ โดยภาษาที่ใช้ในการนำเที่ยวคือภาษาไทย ดังนั้น การนำเที่ยวจึงค่อนข้างง่าย มีความเป็นกันเองไม่มีขั้นตอนเข้า -ออกระหว่างประเทศให้ยุ่งยาก
อะไรที่ทำให้คนอยากเป็นไกด์นำเที่ยว กับ ผู้นำเที่ยว
อาชีพนี้นับว่าได้เดินทางท่องเที่ยวไปพร้อมกับการทำงาน ไกด์นำเที่ยว กับ ผู้นำเที่ยว ได้เรียนรู้ประสบการณ์แปลกใหม่และวัฒนธรรมที่หลากหลายในสถานที่ต่างๆที่เดินทางไป ได้ดูแลลูกค้าโดยเปรียบเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกันเพื่อทำให้เขาเกิดความพึงพอใจและประทับใจ เนื่องจกการท่องเที่ยวไม่ใช่การพักผ่อน แต่เป็นการเพิ่มประสบการณ์ที่ บางครั้งการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ กลับมาที่ประเทศไทยจะเกิดความรู้สึกรักประเทศไทย เพราะรสชาติอาหาร ความสะดวกสบายในลักษณะของเรา และบางครั้งเองการไปต่างประเทศเองก็จะมีจุดไม่ดี ฉะนั้นมันก็คือการไปเรียนรู้ประสบการณ์ของชาติอื่น ๆ
อาชีพมัคคุเทศก์จะต้องมีการสอบที่จะเอาบัตรไกด์ไหมและขั้นตอนการทำบัตรทั้งหมด
บัตรไกด์ตอนนี้มี 2 ประเภท คือ
- บัตรมัคคุเทศก์ เพื่อใช้ในนำเที่ยวลูกค้าชาวไทยหรือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อายุการใช้งานของบัตรคือ 5 ปี ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท 10 ชนิด เพื่อจำแนกประเภทให้หลายฝ่ายทำงานง่ายขึ้น ได้แก่
- มัคคุเทศก์ประเภททั่วไป มี 2 ชนิด คือ
- มัคคุเทศก์ทั่วไป (ต่างประเทศ) บัตรสีบรอนซ์เงิน
- มัคคุเทศก์ทั่วไป (ไทย) บัตรสีบรอนซ์ทอง
- มัคคุเทศก์ประเภทเฉพาะ มี 8 ชนิด คือ
- มัคคุเทศก์เฉพาะ ต่างประเทศ – เฉพาะพื้นที่ บัตรสีชมพู
- มัคคุเทศก์เฉพาะ ไทย – เฉพาะพื้นที่ บัตรสีฟ้า
- มัคคุเทศก์เฉพาะ เดินป่า บัตรสีเขียว
- มัคคุเทศก์เฉพาะ ศิลปวัฒนธรรม บัตรสีแดง
- มัคคุเทศก์เฉพาะ ทางทะเล บัตรสีส้ม
- มัคคุเทศก์เฉพาะ ทะเลชายฝั่ง บัตรสีเหลือง
- มัคคุเทศก์เฉพาะ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ บัตรสีม่วง
- มัคคุเทศก์เฉพาะ วัฒนธรรมท้องถิ่น บัตรสีน้ำตาล
- มัคคุเทศก์ประเภททั่วไป มี 2 ชนิด คือ
- บัตรผู้นำเที่ยว เพื่อนำเที่ยวลูกค้าชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งจะได้รับก็ต่อเมื่อมีบัตรมัคคุเทศก์เรียบร้อยแล้ว และมีพาสปอร์ตที่เคยใช้เดินทางไปต่างประเทศมาแล้ว ประกอบในการยื่นจดทะเบียนด้วย และต้องมีหลักฐานประวัติการทำงานทัวร์ต่างประเทศมาก่อนด้วย
การทำงานของไกด์นำเที่ยว กับ ผู้นำเที่ยว มีความยากง่ายอย่างไร
โดยผมจะขอแยกแยะเป็นหมวดหมู่การทำงาน เพื่อชี้ให้เห็นความแตกต่างกันชัดๆ
ข้อมูล | ไกด์นำทัวร์(ต่างชาติ) | ไกด์นำทัวร์(คนไทย) | ผู้นำเที่ยว(ทัวร์ลีดเดอร์) |
ภาษา | รอบรู้ภาษาของลูกค้าประเทศนั้นๆ | ภาษาไทย | ภาษาไทย,ภาษาต่างชาติ |
ลูกค้า | มาจากต่างประเทศ | คนไทย | คนไทย |
ผู้ร่วมงาน | คนไทยส่วนใหญ่, คนต่างชาติ | คนไทย | คนไทย, คนต่างชาติ |
แหล่งท่องเที่ยว | ในประเทศมีข้อมูลอธิบายได้ง่าย | ในประเทศมีข้อมูลอธิบายได้ง่าย | ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม |
ที่พักโรงแรม | แนะนำการใช้ให้ลูกค้าเพิ่มมากกว่า | แนะนำการใช้งานให้ลูกค้าปกติ | แนะนำการใช้ให้ลูกค้าเพิ่ม |
อาหารการกิน | แนะนำการกินให้ลูกค้าเพิ่มมากกว่า | แนะนำง่ายๆ | แนะนำการกินให้ลูกค้าเพิ่ม |
ที่ซื้อของ | แนะนำการกินให้ลูกค้าเพิ่มมากกว่า | แนะนำง่ายๆ | แนะนำการกินให้ลูกค้าเพิ่มมากกว่า |
รายได้ | เบี้ยเลี้ยง 1,000-5,000 บาท/วัน **ค่าตอบแทนร้านช้อปปิ้งค์ | เบี้ยเลี้ยง 1,000-3,000 บาท/วัน **ค่าตอบแทนร้านช้อปปิ้งค์ | เบี้ยเลี้ยง 1,000-6,000 บาท/วัน **ค่าตอบแทนร้านช้อปปิ้งค์ |
ระดับความยาก 10 คะแนน | 9 | 7 | 8 |
สำหรับไกด์นำเที่ยว ที่ทำงานภายในประเทศไทย เรื่องการเดินทาง การจัดการ การร่วมมือกับผู้ร่วมงาน จะไม่ยุ่งยากเหมือนกับ ทัวร์ลีดเดอร์ เพราะการสื่อสารภาษาเดียวกัน แต่ที่สำคัญการสื่อสาร เพื่ออธิบายเรื่องราวต่างๆ ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ภาษาเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะเห็นว่าไกด์อินบาวน์ทั่วไป ก็จะแยกการทำงานกันไปตามความถนัดของภาษา ไม่ได้มีเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่กฏหมายของไทยสงวนสิทธิ์อาชีพนี้ไว้ให้เฉพาะคนไทยเท่านั้น
สำหรับผู้นำเที่ยว(ทัวร์ลีดเดอร์)ความยากง่ายขึ้นอยู่กับประเทศในการเดินทาง ส่วนใหญ่ผู้นำเที่ยวจะเริ่มจากพื้นที่ใกล้ ๆ ในโซนเอเซีย การทำงานก็ยังไม่ยุ่งยากมาก เนื่องจากมี local guide ของประเทศนั้น ๆ รอรับอยู่ นั่นคือมีการทำงานร่วมกัน 2 คน local guide จะมีหน้าที่เป็นคนประสานงานในร้านอาหาร โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว
ระดับยากขึ้นก็จะเป็นในโซนของยุโรป หรืออเมริกา เนื่องจากผู้นำเที่ยวต้องเดินทางไปคนเดียว ต้องควบคุมทุกอย่างเอง ทั้งควบคุมตั้งแต่เวลา โปรแกรมการเดินทาง โรงแรม ร้านอาหาร บางครั้งต้องบรรยายสถานที่ด้วยตัวเอง ยกเว้นพระราชวังหรือพิพิธภัณฑ์ ที่หลายๆ ประเทศจะบังคับให้ไกด์ท้องถิ่น(local guide) หรือไกด์ที่ได้ใบอนุญาตเฉพาะเท่านั้นทำงานได้ ผู้นำเที่ยวต้องคอยแปล อธิบายเพิ่มเติมให้กับลูกค้าคนไทยเพิ่ม
แต่ปกติผู้นำเที่ยวต่างประเทศก็จะมีพื้นฐานในการทำทัวร์ในประเทศด้วย เพราะฉะนั้นก็ยังสามารถรับงานทำทัวร์ในประเทศได้อีกด้วย สรุปโดยรวมแล้ว
ผู้ที่จะขยับขึ้นไปเป็น ผู้นำเที่ยว(ทัวร์ลีดเดอร์) ให้ท่านดูคุณสมบัติในการขึ้นทะเบียน ดังนี้
- สำเนาวุฒิบัตรหรือหนังสือรับรองว่าได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้นำเที่ยวที่คณะกรรมการกำหนด และวุฒิการศึกษา หรือ
- สำเนาปริญญาบัตรและใบแสดงผลการเรียนในสาขามัคคุเทศก์หรือสาขาท่องเที่ยวที่มีวิชาเกี่ยวกับมัคคุเทศก์
(Transcript ฉบับภาษาไทย) หรือ - สำเนาอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงและใบระเบียนแสดงผลการเรียนในสาขามัคคุเทศก์
หรือสาขาการท่องเที่ยวที่มีวิชาเกี่ยวกับมัคคุเทศก์ไม่น้อยกว่าที่คณะกรรมการกำหนด - สำเนาวุฒิบัตรหรือหนังสือรับรองว่าได้ผ่านการฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์ตามหลักสูตรและสถานฝึกอบรม
ตามที่คณะกรรมการกำหนด
หมายเหตุ:- คณะกรรมการกำหนด ที่พิจารณาเรื่อง การลงทะเบียนบัตรผู้นำเที่ยว (Tour Leader) นี้คือ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว, สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว หรือสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ซึ่งบริษัททัวร์ทั้งหลายเป็นสมาชิกอยู่ ได้หารือเรื่องปัญหาทัวร์ลีดเดอร์ทำผิดกฏหมาย ฉ้อโกง ลูกค้า และบริษัททัวร์ ซึ่งส่วนใหญ่เหตุเกิดนอกราชอาณาจักร ซึ่งการควบคุม คุ้มครองจึงเกิดปัญหา ในระหว่างทำงาน ดังนั้น กฏหมายเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้นำเที่ยว ได้มีมติกำหนดร่างเป็น กฏกระทรวงขึ้นมา ในปี พ.ศ. 2555
ดาวน์โหลดแบบฟอร์มลงทะเบียน ผู้นำเที่ยว ไกด์นำเที่ยวทั่วไป
สิ่งที่สำคัญของการเป็นไกด์นำทัวร์ กับ ผู้นำเที่ยว เนื่องจากไกด์เป็นผู้ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว ทำให้สามารถสร้างชื่อเสียงและความประทับใจให้เกิดขึ้นกับบริษัทนำเที่ยวได้เป็นอย่างดี จนบางครั้งส่งผลต่อการกลับมาใช้บริการซ้ำของนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย ยิ่งไกด์นำเที่ยวในไทย สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ยิ่งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยรุดหน้า สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศมากขึ้น แหละนี่คือ “ผู้ปิดทองหลังพระ ในธุรกิจท่องเที่ยว” ที่ภาครัฐยังมองเห็นและให้ความสำคัญกับบุคคลาการเหล่านี้ไม่ดีพอ ก็ว่าได้
คุณต้องเข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น.