ไกด์นำเที่ยว หรือ มัคคุเทศก์ Tour Guide

ไกด์นำเที่ยว หรือ มัคคุเทศก์ (Tour Guide) คืออะไร?

เป็นอาชีพที่หลายๆคน สนใจอยากเป็น ไกด์นำเที่ยว หรือเรียกศัพท์อย่างทางการ คือ มัคคุเทศก์ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Tour Guide ด้วยเหตุผลหลากหลายประการเช่นกัน อาจจะเห็นว่าอาชีพนี้ได้เที่ยวด้วย และได้สตังค์ด้วย น้องๆ หลายคนก็มีไอดอลเป็นของตนเอง มีความฝัน จนมาถึงวางแผนการเรียนทางด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้ได้เป็นไกด์กันเลย

ผู้เขียนข้ออธิบายให้เข้าใจ และเล่าประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา กว่า 35 ปี ตั้งแต่ในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เรามักจะเห็นว่าการทำกิจกรรมสัมพันธ์ การรับน้อง มันมีพื้นฐานของการบริการ ระหว่างรุ่นพี่ และรุ่นน้อง มีจัดการละเล่นแคมป์ไฟ การเล่นเกมส์ เพื่อความคิดสร้างสรร ความสามัคคี สร้างมนุษยสัมพันธ์ และในยุคนั้นราวๆ ปี 2522 เริ่มนำ นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ ที่ต้องประสบการณ์และหารายได้ และส่วนใหญ่ก็เป็นนักกิจกรรม มาเป็นไกด์นำทัวร์ โดยฝึกฝนเพิ่มเติม ให้เข้ากับธุรกิจทัวร์ในยุคนั้นและผสมผสานกิจกรรมการเล่นกิจกรรมรอบกองไฟ ในรายการทัวร์เพื่อให้ลูกค้าได้มีความสนุกสนานในระหว่างเดินทาง ในวันหยุดพักผ่อน จากการเป็นไกด์ผู้ช่วย(ไกด์ตาม) ก็ขยับขึ้นเป็นไกด์นำ ตามลำดับของการพัฒนาตนเอง โดยอาศัยพี่สอนน้อง รุ่นต่อรุ่น ส่งต่อกันไป หลังจากที่สามารถทำงานในอาชีพชั่วคราว ในระหว่างเรียน บางคนก็เลิกลากันไป ประกอบอาชีพตามที่ตนเองเรียนมา บางคนก็มุ่งหน้าในสายอาชีพนี้เลย

เนื้อหาทั้งหมดของบทความนี้

ไกด์นำเที่ยว อาชีพนี้ ใช่ หรือ ไม่ใช่

หรือเป็นแค่ ความอยากของคุณ

อยากเป็นไกด์นำเที่ยว ต้องมีคุณสมบัติ 5 ข้อนี้

อยากเป็นไกด์นำเที่ยว ต้องมีคุณสมบัติ 5 ข้อนี้

อาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีลักษณะเฉพาะตัวของมัน ซึ่งหากคุณมีครบคุณก็จะดำรงค์อาชีพนี้ได้อย่างดี และยั่งยืน โดยจะไม่ล้มเลิกระหว่างกลางทาง ต้องอกว่าอาชีพนี้มีคนเริ่มต้นเป็นกันเยอะ และล้มเลิกกันไปก็เยอะ ด้วยเหตุผลหลายประการ จะมาเล่าต่อให้ภายหลัง ในคุณสมบัติที่ถูกวางไว้โดยบทสรุปของเหล่าบรรดาครูบาอาจารย์ ตลอดจนถึงผู้อาวุโสในวงการท่องเที่ยวในอดีต ดังนี้

  1. ใจรักบริการ
  2. มนุษยะสัมพันธ์ดี
  3. บุคลิกภาพดี
  4. ความรู้ดี
  5. มีศิลปะในการพูด

1.ใจรักบริการ

ความหมายของคำว่า “บริการ” คือ การปฏิบัติ หรือการกระทำ เพื่อให้ความสะดวกสบาย แก่ผู้อื่น อย่างเต็มใจโดยไม่คาดหวังสิ่งใด นอกเหนือจากการคำว่า “ให้” เป็นเบื้องต้น ซึ่งผลตามมาก็คือสิ่งตอบแทน หลังจากที่ผู้รับได้รับความประทับใจ มัคคุเทศก์ต้องมีความภาคภูมิใจในอาชีพของตน มีใจรักในงานบริการ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ตั้งใจปฏิบัติงานให้มีคุณภาพมากที่สุด อดทนต่อปัญหา พยายามปรับปรุงแก้ไขในส่วนบกพร่องของตนเองและรักษามาตรฐานการทำงานที่ดีให้ได้ตลอดไป

หากคุณยังไม่เคยให้ บริการ พ่อแม่ คุณเลย

คุณจะมาเป็นไกด์ได้รึ

– ครูผู้สอน มัคคุเทศก์

สรุปทำไมถึงเอาเรื่อง ใจรักบริการ มาเป็นอันดับแรก เพราะถ้าคุณยังไม่มีข้อนี้ คุณก็ควรเปลี่ยนใจเถอะ จะได้ไม่หลงทาง

2.มนุษยสัมพันธ์ที่ดี

คือ ความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยการมีไมตรีจิตที่ดี มีเมตตาต่อกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งความยอมรับนับถือ ความไว้วางใจ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ที่จะมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีนั้นย่อมไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น และนำไปใช้ให้เหมาะสมและถูกกาลเทศะกับสภาพแวดล้อมในสังคมด้วย

หลักการมีมนุษยสัมพันธ์

  1. สุภาพอ่อนโยน มีกิริยาที่สุภาพ พูดจาไพเราะ เสียงดัง ฟังชัด ไม่มีกระโชก โฮกฮาก
  2. มีน้ำใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่น คือลูกค้าที่เป็นลูกทัวร์ของเรา.
  3. ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำให้ผู้พบเห็นรูสึกดีไปตามด้วย
  4. รับผิดชอบ เป็นผู้นำ มีไหวพริบ กล้าตัดสินใจ แก้ไขปํญหาเฉพาะหน้าไดดี
  5. ร่วมมือ รู้จักทำงานเป็นทีม ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ไกด์ เราต้องทำงานกับคนอื่น เช่น ผู้ช่วยไกด์ ทัวร์ลีดเดอร์ คนขับรถ คนขับเรือ
  6. ไม่ทำตัวมีปัญหา ไม่ทำปัญหาเล็ก ให้เป็นปัญหาใหญ่
  7. คิดก่อนพูด ต้องมีสติในการทำงาน
  8. ตรงต่อเวลา เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมี
  9. ไม่นินทา
  10. อย่าโอ้อวด ไม่เอาเรื่องส่วนตัว มาเล่าให้ลูกค้าฟัง
  11. จริงใจ สม่ำเสมอต่อลูกทัวร์อย่างเท่าเทียม ไม่มีลำเอียง
  12. รู้จักอาวุโส ให้เกียรติลูกค้า ประดุจญาติมิตรของเรา
  13. ไม่อิจฉา
  14. มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
  15. ไม่โกรธง่าย อดทน ควบคุมอารมณ์ได้

มนุษยสัมพันธ์ที่ดีของไกด์นำเที่ยวกับลูกทัวร์

มนุษยสัมพันธ์ที่ดีของไกด์นำเที่ยวกับลูกทัวร์
  • ศึกษาข้อมูลลูกค้า ต้องรู้ว่านักท่องเที่ยวของเราเป็นใคร เป็นชาติใด มีลักษณะนิสัยโดยทั่วไปเป็นอย่างไร มีวัตถุประสงค์ในการเดินทางท่องเที่ยวเพื่ออะไร เพื่อที่จะได้ปรับตัวให้เข้ากับนักท่องเที่ยวกลุ่มนั้นได้ และให้การบริการที่เหมาะสมเป็นที่ถูกใจแก่นักท่องเที่ยว เช่น นักท่องเที่ยวชาวไทยชอบซื้อของมากกว่าชาติอื่น ๆ จะต้องจัดเวลาในการซื้อของมากขึ้นกว่ากลุ่มอื่น ๆ ส่วนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษชอบให้ตรงเวลาและเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้
  • มีน้ำใจต่อลูกค้า พร้อมที่จะบริการเสมอ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเห็นอกเห็นใจ ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องอดทดอดกลั้น ไม่แสดงอารมณ์และกริยามารยาทที่ไม่ดีออกมาให้นักท่องเที่ยวเห็น ต้องควบคุมอารมณ์ของตนเองได้
  • มีความรับผิดชอบ มัคคุเทศก์ต้องคอยดูแลเอาใจใส่สุขภาพและทรัพย์สินแก่นักท่องเที่ยว เมื่อมีปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวในด้านอื่น ๆ เช่น ติดต่อส่งข่าวสารกลับประเทศ การติดต่อสื่อสารกับคนในท้องถิ่น มัคคุเทศก์จะต้องช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • สร้างความเข้าใจระหว่างคนในชาติและระหว่างชาติ อธิบายให้เห็นถึงความแตกต่างของความเชื่อ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม พื้นฐานการศึกษา และลักษณะร่วมของคนแต่ละชาติ และไม่ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจหรือความเข้าใจผิดระหว่างชาติ โดยไม่แสดงความ ดูถูกหรือยกย่องวัฒนธรรม หรือบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทำให้เกิดความเป็นกันเองระหว่างกลุ่มนักท่องเที่ยว ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวมีความสุข
  • แนะนำสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ เมื่อพาลูกทัวร์ไปยังพื้นถิ่นของแต่ละที่ ซึ่งจะมีขนบธรรมเนียมประเพณีโดยเฉพาะ และช่วยกันอนุรักษ์ หรือรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงที่ยั่งยืนเหมือนเดิม กับคำกล่าวนี้ “เมื่อเรามาถึงถิ่นที่นี่แล้ว เราจะทิ้งสิ่งแปดเปลื้อนอะไรไว้ข้างหลัง แม้แต่รอยเท้าของเรา”

3.บุคลิกภาพดี

บุคลิกภาพดี ของไกด์นำเที่ยว

บุคลิกภาพ หมายถึง ลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ บุคลิกภาพภายนอก และบุคลิกภาพภายใน บุคลิกภาพนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสิ่งแวดล้อมที่พบเจอ ซึ่งในการทำงานมีหลายองค์ประกอบที่ช่วยให้ชีวิตการทำงานราบรื่น บุคลิกภาพก็เป็นหนึ่งในนั้น

บุคลิกภาพภายนอกของไกด์

1 การแต่งกายและทรงผม
เครื่องแต่งกายและทรงผมเป็นส่วนแรกที่เห็นได้เด่นชัด การเลือกเครื่องแต่งกายให้เหมาะกับกาลเทศะของไกด์ ช่วยเสริมให้บุคลิกภาพดีขึ้น (บริษัททัวร์ส่วนใหญ่ มักจะมีชุดยูนิฟอร์มสำหรับมัคคุเทศก์โดยเฉพาะ เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตนของบริษัทฯ) การเลือกเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมตามสภาพงานทัวร์ เช่น เที่ยววัด เที่ยววัง หรือเพี่ยวธรรมชาติ ภูเขา ทะเล แต่ละโอกาสนี้ยังหมายรวมถึง การสวมรองเท้า และการตกแต่งทรงผมให้เรียบร้อย และอย่าลืมว่า “อย่าให้เว่อร์วังอลังการ โดเด่นกว่าลูกทัวร์”
2 การเคลื่อนไหวร่างกาย
การยืน การเดิน การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ควรกระทำอย่างเหมาะสม รวมถึงแสดงออกให้ถูกกับกลุ่มบุคคล เช่น ไม่ควรเดินไปเดินมาในห้องประชุมใหญ่ และไม่ควรนั่งเงียบเมื่อมีการสอบถามความคิดเห็น นอกจากช่วยให้มีบุคลิกภาพที่ดีแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อองค์กรบริษัทของไกดฺอีกด้วย
3 โทนเสียงในการพูด
น้ำเสียงในการพูดสามารถบ่งบอกอารมณ์ของไกด์ได้ การรู้จักใช้น้ำเสียงจะช่วยให้การทำงานราบรื่น เมื่อมีอารมณ์ขุ่นมัวให้พยายามระงับอารมณ์ตัวเองก่อนพูด เพราะคำพูดตอนกำลังโมโหอาจมีความเกรี้ยวกราด และเสียงดัง ไม่เป็นผลดีต่อตัวเอง
4 การใช้สายตา
บ่อยครั้งการจ้องมองบุคคลใดบุคคลหนึ่งนาน ๆ สร้างความอึดอัดต่อผู้ถูกมอง และสร้างบุคลิกภาพที่ไม่ดีต่อผู้มอง การรู้จักชำเลืองมอง หรือรู้จักใช้สายตาให้เหมาะสม รวมถึงการระวังไม่ใช้สายตาจ้องเขม็งไปยังบุคคลโดยเด็ดขาด
5 การจัดระเบียบร่างกาย
ระเบียบของร่างกาย คือ การะมัดระวังไม่ให้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะควรออกสู่สาธารณะชน เช่น การแคะจมูก การนั่งกระดิกขา การเอามือเคาะโต๊ะเมื่อใช้ความคิด พฤติกรรมเหล่านี้ควรมีการฝึกฝนและควบคุม ไม่ให้เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในหน้าที่

บุคลิกภาพภายในของไกด์

คำว่า “บุคลิกภาพภายใน” หมายถึง สิ่งที่เป็นนามธรรม ไม่สามารถจับต้องได้ แต่มองเห็นผ่านการกระทำ เช่น ทัศนคติ วิสัยทัศน์ เจตคติต่าง ๆ องค์กรมักจะเลือกผู้ที่มีบุคลิกภาพเอื้อประโยชน์ต่อองค์กร ดังนี้

  • มนุษยสัมพันธ์ดี บุคคลที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีจะสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ง่าย การทำงานในองค์กรเกือบทุกองค์กรมักจะมีการประสานงาน การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีจึงเป็นคุณสมบัติที่องค์กรหลายแห่งมองหา
  • ช่างสังเกต ความช่างสังเกตเป็นอีกหนึ่งวิธีในการเรียนรู้ ผู้ที่ช่างสังเกตมักจะเข้าใจองค์ความรู้ได้อย่างรวดเร็ว เสริมสร้างศักยภาพในการทำงาน และเป็นอีกหนึ่งบุคลิกภาพที่ดีของคนทำงาน
  • มีความละเอียดรอบคอบ งานที่ประณีตมักจะมีข้อผิดพลาดน้อย ผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบจะระมัดระวังไม่ให้ชิ้นงานเกิดความผิดพลาด สร้างผลงานที่มีคุณภาพอยู่เสมอ
  • รักที่จะเรียนรู้และพัฒนา ธุรกิจท่องเที่ยวจำเป็นต้องเดินหน้าในทุกวัน คนทำงานในองค์กรก็เช่นกัน การเรียนรู้และการพัฒนาที่ไม่มีที่สิ้นสุดเป็นบุคลิกภาพภายในที่ควรมี และเป็นประโยชน์ต่อองค์กรเป็นอย่างมาก
  • มีความนอบน้อม ความนอบน้อมถ่อมตนเป็นการสร้างความรู้สึกแรกพบที่ดีต่อผู้พบเห็น ช่วยให้การทำงานราบรื่น และทำให้ผู้ใหญ่เอ็นดู สอนงานด้วยความรู้สึกที่ดี

4.ความรู้ดี

ความรู้ดี สิ่งที่ไกด์นำเที่ยวต้องมี

มัคคุเทศก์ต้องมีความรู้เรื่องสำคัญ 7 ประการ ดังนี้

  1. ความรู้เกี่ยวกับข้อมูลทั่วไป ที่สำคัญของบริษัท เช่น การบริการ เส้นทางนำเที่ยว เบอร์โทรศัพท์ หรือแฟกซ์ สถานที่ติดต่อ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงาน และให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว
  2. ความรู้โดยรวมของจุดหมายปลายทางที่เราไป เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคม การเมือง การปกครอง ศาสนา เทศกาลงานประเพณีที่สำคัญ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละพื้นที่ สิ่งที่ควร และไม่ควรทำ
  3. สถานที่ท่องเที่ยว ประเพณี วัฒนธรรม และผลิตภัณฑ์พื้นเมืองในท้องถิ่น สถานที่เที่ยว เบอร์โทรศัพท์ หรือ แฟกซ์ สถานที่ติดต่อ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานและให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวท่องเที่ยวในท้องถิ่นทั้งที่เป็นธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น เช่น อาคารบ้านเรือน วัด โบราณสถาน และผลิตภัณฑ์พื้นเมือง เช่น เครื่องจักสาน ผ้าทอ งานแกะสลัก การแสดงของท้องถิ่น เช่น มโนราห์ ฟ้อนเล็บ ระบำชาวเขา เทศกาลและประเพณีต่าง ๆ เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ บุญบั้งไฟ งานแห่เทียนพรรษา ฯลฯ
  4. ขั้นตอนและวิธีการเข้าออกเมือง การเก็บภาษี การติดต่อกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง มัคคุเทศก์ต้องให้คำแนะนำนักท่องเที่ยว และดูแลให้การติดต่อกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างราบรื่น
  5. ต้องมีความรู้ในการใช้ภาษาต่างประเทศ มีทักษะในการพูด อ่าน และเขียน เป็นอย่างดี สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ สามารถพูดบรรยายให้นักท่องเที่ยวเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้
  6. ต้องมีการประสานงานและความสัมพันธ์ที่ดีกับธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างราบรื่น และก่อให้เกิดความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวมากที่สุด เช่น การคมนาคมขนส่ง ที่พัก ร้านอาหาร ธุรกิจบันเทิง และร้านขายของที่ระลึก
  7. เทคนิคการถ่ายรูป ปัจจุบันนี้การท่องเที่ยวของผู้คน จะถูกแชร์รูปภาพออกไป ตามแพลตฟอร์ม Social ต่างๆ ดังนั้นควรเรียนรู้เพิ่มเติมให้คำแนะนำการถ่ายภาพ และหามุมภาพของแหล่งสถ่นที่ท่องเที่ยว

5.มีศิลปะในการพูด

ไกด์นำเที่ยว ต้องมีศิลปะในการพูด

การพูดเป็นศาสตร์และศิลป์ หมายถึง การพูดมีกฎเกณฑ์สำหรับเรียนรู้และการปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็อาศัยความสามารถเฉพาะตัวของผู้พูดด้วย มัคคุเทศก์ต้องมีการเตรียมตัวที่ดีสำหรับการอธิบาย การลำดับเนื้อหา ถ่ายทอดด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย รู้จักกาลเทศะ ควรพูดเรื่องใด เวลาใด ใช้ภาษาให้เหมาะสมกับเพศ วัย และสถานการณ์

มัคคุเทศก์ถือว่าเป็นบุคลากรที่สําคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากในการท่องเที่ยวบางครั้งต้องอาศัยบุคคลในการบรรยายแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งมัคคุเทศก์เป็นอาชีพหนึ่งที่มีหน้าที่บรรยายประวัติความเป็นมา ความสําคัญของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆได้ การบรรยายข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างดีเยี่ยมมากน้อยเพียงไรก็ขึ้นอยู่ความรู้และความสามารถของมัคคุเทศก์ท่านนั้น การพูดของมัคคุเทศก์เป็นหัวใจหลักในการนําเที่ยว เพราะหากนํานักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามแต่มัคคุเทศก์บรรยายแหล่งท่องเที่ยงดังกล่าวได้ไม่ดี หรือไม่น่าสนใจก็จะทําให้นักท่องเที่ยวเกิดประทับใจในแหล่งท่องเที่ยวที่งดงามดังกล่าว และรวมไปถึงเกิดความเบื่อหน่ายตัว
มัคคุเทศก์นั้นด้วย


ความหมายของการพูด

การสื่อสารของมัคคุเทศก์ ส่วนใหญ่จะใช้การพูดในการสื่อสารข้อมูลให้กับนักท่องเที่ยวซึ่งการพูดเป็นการสื่อสารที่ใช้เป็นอันดับสองรองจากการฟัง จะเห็นได้ว่ามัคคุเทศก์จะสื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้ดีนั้นมัคคุเทศก์จะต้องมีพื้นฐานความรู้ที่ดี มีทักษะในการพูด การพูดของมัคคุเทศก์นอกจากจะพูดให้นักท่องเที่ยวฟังและเข้าใจความหมายแล้ว เป้าหมายสุดท้ายของการพูดคือ ต้องการให้ผู้ฟังตอบสนองตามที่ผู้พูดต้องการ เพราะฉะนั้นมัคคุเทศก์ควรฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้พูดที่ดี ไม่ใช่เพียงพูดได้เท่านั้นแต่ควรพูดเป็นก็จะทําให้ประสบความสำเร็จในอาชีพได้

ซึ่งองค์ประกอบของการพูดมีดังนี้

  1. ผู้พูด คือ ผู้ที่ต้องการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความรู้สึก และความต้องการของตนเองรู้จักเลือกใช้วิธีในการถ่ายทอดได้อย่างเหมาะสม รู้จักใช้ภาษา น้ําเสียง และอากัปกิริยาต่างๆ ได้กลมกลืนกับเนื้อหาที่นําเสนอ นอกจากนี้ยังต้องรู้จักวิเคราะห์ และสังเกตพฤติกรรมของผู้ฟังเพื่อเป็นข้อมูลในการเตรียมหรือปรับสารที่นําเสนอ อีกทั้งต้องเป็นผู้ใฝNรู้โดยการอ่าน การฟังเพื่อสะสมข้อมูลไว้ใช้ต่อไปอีกด้วย
  2. สาร คือ เนื้อหาสาระที่ผู้พูดต้องการส่งไปยังผู้ฟัง เนื้อหาของสารที่ดีควรมีความยากง่ายเหมาะสมกับระดับผู้ฟัง เพราะเนื้อหายาก หรือซับซ้อนเกินไปผู้ฟังอาจไม่เข้าใจ แต่หากเนื้อหาพื้นๆ หรือซ้ําๆ กับที่เคยได้ยินมาแล้ว จะทําให้ผู้ฟังเกิดความเบื่อหน่าย นอกจากนี้เนื้อหาที่จะนํามาพูดควรเป็นเนื้อหาที่มีประโยชน์สอดคล้องกับความสนใจของผู้ฟังและเป็นเรื่องที่ตัวผู้พูดมีความถนัด และมีความรอบรู้อย่างดี มีข้อมูลและข้อเท็จจริงที่สามารถนํามาอ้างอิง หรือมาเสริมให้เกิดความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
  3. สื่อ คือ สิ่งที่ช่วยถ่ายทอดความรู้ ความคิดของผู้พูดไปยังผู้ฟัง เช่น น้ําเสียง สีหน้า กิริยา ท่าทาง แสงสว่าง รวมทั้งโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ หากผู้พูดใช้สื่อได้อย่างเหมาะสมกับเนื้อหาที่พูดย่อมทําให้การพูดนั้นๆ ประสบความสําเร็จได้ง่ายยิ่งขึ้น
  4. ผู้ฟัง คือ ผู้รับสารซึ่งอาจเป็นบุคคลเดียวหรือหลายคนก็ได้ ผู้ฟังที่ดีต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการจับใจความ และต้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังนั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
  5. สภาพแวดล้อม หมายถึง เวลา โอกาส และสถานที่ที่ใช้ในการพูดครั้งนั้นๆ สภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีและดีเกินไป ย่อมเป็นอุปสรรคต่อผู้พูดได้ทั้งสิ้น เช่น การจัดการพูดบรรยายในเวลาบ่าย อากาศร้อนอบอ้าว หรือมีเสียงแทรกอยู่ตลอดเวลา ย่อมทําให้ผู้ฟังขาดสมาธิ ในทางกลับกันหากจัดให้ผู้ฟังได้นั่งฟังในที่ที่มีอากาศเย็นสบาย ผู้ฟังเลือกนั่งติดกับเสาได้นั่งพิง ก็อาจทําให้หลับได้เช่นกัน หรือแม้แต่การพูดคุยในชีวิตประจําวันก็ควรจะต้องคํานึงถึงโอกาส และสถานที่นั้นด้วย เพราะหากไม่คํานึงสิ่งเหล่านี้ก็อาจจะทําให้การพูดครั้งนั้นล้มเหลวได้ เช่น นักศึกษาไปขอเงินคุณแม่เที่ยวในตอนเช้าขณะที่คุณแม่กําลังจะรีบออกไปทํางาน นักศึกษาย่อมจะไม่ได้เงินตามที่ต้องการเนื่องจากเวลาไม่เหมาะสม

จากองค์ประกอบทั้ง 5 ประการที่ได้กล่าวไปแล้ว จะเห็นได้ว่าการพูดจะประสบความสําเร็จได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบดังกล่าว จึงอาจสรุปได้ว่า การพูด โดยทั่วไป หมายถึง การสื่อสารโดยใช้ถ้อยคํา ที่มาจากความคิด ความรู้สึก หรือประสบการณ์ของผู้พูด ถ่ายทอดสู่ผู้ฟัง เพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจ และถ้าผู้พูดจะพูดให้ดีจะต้องมีเนื้อหาสาระ และเลือกใช้วิธีการที่เหมาะกับผู้พูดและผู้ฟัง

จึงอาจสรุปได้ว่า การพูดของมัคคุเทศก์ หมายถึง กระบวนการถ่ายทอดข่าวสาร ข้อมูลความรู้ ประสบการณ์ ความรู้สึก ความคิดเห็น ความต้องการจากมัคคุเทศก์โดยผ่านสื่อต่าง ๆ ที่อาจเป็นการพูด การเขียน สัญลักษณ์อื่นใด การแสดงท่าทางหรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ไปยังนักท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะใช้กระบวนการสื่อสารที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม หรือความจําเป็นของมัคคุเทศก์เอง โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการรับรู้ร่วมกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกัน

ประเภทของไกด์นำเที่ยว หรือมัคคุเทศก์

แบ่งตามการรับงานของมัคคุเทศก์หรือมองในลักษณะของการสังกัดบริษัท

ได้ 2 ประเภท คือ

  • มัคคุเทศก์อิสระ (Freelance Guide)
  • มัคคุเทศก์สังกัดบริษัท
ประเภทของไกด์นำเที่ยว หรือมัคคุเทศก์

แบ่งตามหลักธุรกิจนำเที่ยวหรือลักษณะนำเที่ยว

  1. มัคคุเทศก์ที่พานักท่องเที่ยวต่างชาติ เที่ยวภายในประเทศไทย เรียกว่า มัคคุเทศก์อินบาวน์ (Inbound Guide) มัคคุเทศก์ที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติธุรกิจน าเที่ยวและมัคคุเทศก์ ปี พ.ศ.2551 กำหนดทำหน้าที่นำเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ตามขอบเขตที่ใบอนุญาตการเป็นมัคคุเทศก์แต่ละประเภทระบุ มีหน้าที่นำเที่ยวนักท่องเที่ยวต่างชาติท่องเที่ยวภายในประเทศ ใช้ภาษาต่างประเทศในการนำเที่ยว ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศชาติในการบอกกล่าวในสิ่งดีงาม ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี หลายครั้งมัคคุเทศก์ Inbound อาจทำหน้าที่รวมไปถึงการรับเข้าและส่งออกนักท่องเที่ยว (Transfer-In, TransferOut) ด้วย
  1. มัคคุเทศก์ที่พาคนไทยไปท่องเที่ยวต่างประเทศ เรียกว่า มัคคุเทศก์เอาท์บาวน์ (Outbound Guide) มัคคุเทศก์ประเภทนี้บางครั้งต้องเรียกว่าหัวหน้าทัวร์ (Tour Leader) เนื่องจากกรณีนำเที่ยวไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชียที่มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่น (Local Guide) เป็นผู้ให้ข้อมูลความรู้ กรณีนี้เราจะไม่เรียกมัคคุเทศก์ คนไทยที่นำพานักท่องเที่ยวไทยไปต่างประเทศว่าเป็นมัคคุเทศก์ เราต้องเรียกเขาว่าเป็นหัวหน้าทัวร์ (Tour Leader) เพราะเขาไม่ได้ไปนำเที่ยวให้ข้อมูลความรู้แบบที่มัคคุเทศก์ทั่วไปพึงปฏิบัติ เพียงแต่คอยอำนวยความสะดวกในเรื่องทั่วไป
  2. มัคคุเทศก์ พาคนไทยเที่ยวภายในประเทศไทย หรือเรียกว่า มัคคุเทศก์โ์ดเมสติกส์ (Domestic Guide)มัคคุเทศก์ที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติธุรกิจน าเที่ยวและมัคคุเทศก์ ปี พ.ศ.2551 กำหนด มีบัตรมัคคุเทศก์ถูกต้อง ทำหน้าที่นำเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ตามขอบเขตที่ใบอนุญาตการเป็นมัคคุเทศก์แต่ละประเภทระบุ มัคคุเทศก์ Domestic จะนำเที่ยวนักท่องเที่ยวชาวไทยเที่ยวในประเทศ หรือเที่ยวตามตะเข็บชายแดนของประเทศ เช่น อำเภอแม่สาย ตลาดโรงเกลือ โดยภาษาที่ใช้ในการนำเที่ยวคือภาษาไทย ดังนั้น การนำเที่ยวจึงค่อนข้างง่าย มีความเป็นกันเองไม่มีขั้นตอนเข้า -ออกระหว่างประเทศให้ยุ่งยาก

ประเภทของมัคคุเทศก์ แบ่งเป็น 3 ประเภท 6 ชนิด

  1. มัคคุเทศก์ประเภททั่วไป บัตรสีบรอนซ์เงิน
  2. มัคคุเทศก์ประเภทเฉพาะภูมิภาค มี 4 ชนิด คือ
    2.1 เฉพาะภูมิภาค ภาคกลาง บัตรสีเหลือง
    2.2 เฉพาะภูมิภาค ภาคเหนือ บัตรสีเขียว
    2.3 เฉพาะภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บัตรสีส้ม
    2.4 เฉพาะภูมิภาค ภาคใต้ บัตรสีฟ้า
  3. มัคคุเทศก์ประเภทท้องถิ่น บัตรสีน้ำตาล
    การปรับประเภทใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์

หน่วยงานที่กำกับดูแลมัคคุเทศก์

หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่โดยตรง ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตมัคคุเทศก์ ให้เป็นไปตาม พรบ. กรมการท่องเที่ยว Department of Tourism เป็นส่วนราชการระดับกรม ในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวในด้านบริการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์และผู้นำเที่ยว มาตรฐานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การรักษาความปลอดภัยทางการท่องเที่ยว รวมถึงการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร ให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 และแก้ไขเพิ่มเติม

พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551

ขั้นตอนการเข้าสู่การเป็นไกด์นำเที่ยว

การศึกษา

  • สายสามัญ หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการหรือเทียบเท่า ให้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาธุรกิจการท่องเที่ยว สำหรับการจบออกมาเป็นมัคคุเทศก์โดยตรง หรืออาจเรียนในสาขาที่ใกล้เคียงแล้วสามารถนำมาประยุกต์ และไปสอบเป็น มัคคุเทศก์ได้ภายหลัง เช่น นิเทศศาสตร์, การโรงแรม
  • สายอาชีพ ต้องจบการศึกษาอนุปริญญา ในสาขามัคคุเทศก์ หรือสาขาการท่องเที่ยวที่มีวิชาเกี่ยวกับมัคคุเทศก์ไม่น้อยกว่าที่คณะกรรมการกำหนด หรือ ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสือรับรองว่าได้ผ่านการฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์ตามหลักสูตรที่กำหนดมัคคุเทศก์เป็นอาชีพที่ต้องสอบ “บัตรมัคคุเทศก์” หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า บัตรไกด์ โดยจะการจัดการสอบโดยกรมการท่องเที่ยว ประเภทการสอบจะแบ่งได้ ดังนี้

โดยเนื้อหาในการสอบ จะแบ่งออกเป็น หมวดความรู้ทั่วไปสำหรับอาชีพมัคคุเทศก์ ซึ่งจะเน้นหมวดนี้มากที่สุด และมีการแบ่งย่อยเป็นความรู้เชิงวิชาการและความรู้ด้านทักษะอาชีพ

ส่วนอีกหมวดหนึ่ง คือ การวัดความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ โดยผู้สอบจะต้องได้คะแนนรวมทั้วหมดไม่ต่ำกว่า 60% จึงจะถือว่า “ผ่านการทดสอบ”

ไกด์นำเที่ยว กับ ทัวร์ลีดเดอร์ ต่างกันอย่างไร?

หลายท่านอาจจะสับสน ระหว่างคำ 2 คำนี้ ไกด์นำเที่ยว (มัคคุเทศก์) ในที่นี้หมายถึง ไกด์ที่ปฏิบัติหน้าที่ ในท้องถิ่นของตนเองเป็นหลัก อาจะเป็นไกด์อินบาวน์ (Inboud Guide) หรือไกด์ภายในประเทศ (Domestic Guide)

ส่วน ทัวร์ลีดเดอร์ (Tour Leader) หมายถึง ผู้นำทัวร์ โดยพาลูกค้า จากถิ่นฐานบ้านเกิด ไป ท่องเที่ยวยังต่างประเทศ หรือต่างเมือง ซึ่งหน้าที่ภาระอาจจะไม่เหมือนกับ ไกด์ท้องถิ่น หรือ Local guide เพราะบางประเทศมีข้อกฏหมายไม่สามารถนำชมในสถานที่ได้โดยเฉพาะ แต่หน้าที่ของผู้นำทัวร์ มีหน้าที่ต้องดูสาระทุกข์สุกดิบ ตั้งแต่สนามบินบ้านเรา ไปท่องเที่ยวจนจบกลับมาเหยียบแผ่นดิน ถึงหมดหน้าที่ ซึ่งรายละเอียดข้อมูลติดตามอ่าน “บทบาทหน้าที่ของทัวร์ลีดเดอร์หรือผู้นำทัวร์”

ข้อดีของอาชีพไกด์นำเที่ยว


• ได้พบปะกับคนมากมาย หลายรูปแบบ
• ทำงานไม่อยู่กับที่ มักจะเดินทางเสมอ
• ได้เชื่อมโยงและมีพันธมิตรมากมายตลอดการเดินทาง
• มีความท้าทาย และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เสมอในระหว่างการเดินทาง
• ได้ความสุขของการให้บริการ มอบข้อมูล ประสบการณ์ และมอบความสุขให้กับนักท่องเที่ยวที่เราดูแล

ข้อจำกัดของอาชีพไกด์

  • เวลาการทำงานไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับตารางการเดินทาง
  • เวลาส่วนตัวน้อย เพราะหน้าที่ของงานบริการจะต้องคำนึงถึงผู้อื่นมากกว่าตนเองตลอดเวลา
  • มีแรงกดดันสูง จากสถานการณ์เฉพาะหน้าที่คาดการณ์ไม่ได้ และคนที่หลายความคิดความต้องการ
  • จะมีเทศกาลวันหยุดไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไป เพราะนักท่องเที่ยวเดินทางช่วงเทศกาล เรามักจะออกทำงานเสมอ

บทสรุปภาพรวมของไกด์นำเที่ยว หรือมัคคุเทศก์

ไกด์นำเที่ยว หรือมัคคุเทศก์ เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะฉะนั้นผู้เรียนจึงควรจะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบ คุณลักษณะอันจำเป็นที่จะทำให้การทำงานของอาชีพนี้ราบรื่นประสบผลสำเร็จ และถือว่าเป็นข้อมูลที่จะทำให้คุณเป็น ไกด์นำเที่ยว ที่ดีได้ และสร้างชื่อเสียงของประเทศชาติเป็นที่รู้จักทั่วโลกและช่วยเพิ่มพูนจำนวนนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยได้มากขึ้น (กล่าวไว้สำหรับมัคคุเทศก์อินบาวน์)

คุณต้องเข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า